4 สัญญาณเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก ภัยเงียบของเพศชายมีอะไรบ้าง ?
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ เชิญชวนประชาชนร่วมรณรงค์รู้จักภัยเงียบของมะเร็งต่อมลูกหมาก นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งตอมลูกหมากเป็นหนึ่งในมะเร็งที่พบบ่อยในชายไทย ปัจจุบันพบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทยโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติรายงานผู้ป่วยมะเร็งตอมลูกหมากรายใหม่ประมาณ 3,700 รายต่อปี หรือมีอุบัติการณ์ 7.7 รายต่อประชากร 100,000 คน
สำหรับการเสียชีวิตจากมะเร็งตอมลูกหมาก กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตอมลูกหมากประมาณ 1,700 ราย
ปัจจุบันสาเหตุของการเกิดมะเร็งตอมลูกหมากยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการศึกษาวิจัยพบว่ามีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรค เช่น อายุที่มากขึ้นโดยเฉพาะโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งตอมลูกหมาก เป็นต้น
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มะเร็งตอมลูกหมากเกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อภายในต่อมลูกหมากเจริญเติบโตและมีการแบ่งตัวที่ผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้ ในระยะเริ่มแรกอาจไม่แสดงอาการแต่เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้นอาจทำให้เกิดการกดทับบริเวณท่อปัสสาวะ เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมักมีปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายปัสสาวะ
สัญญาณเตือน ‘มะเร็งต่อมลูกหมาก’
1.ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะลำบาก
2. ปัสสาวะไม่พุ่งหรือหยุดเป็นช่วง ๆ รู้สึกปวดเมื่อปัสสาวะ
3.ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะ ปัสสาวะตอนกลางคืน
4.รู้สึกปวดเมื่อปัสสาวะหรือหลั่งอสุจิ
อย่างไรก็ตามอาการของมะเร็งตอมลูกหมากอาจคล้ายกับโรคต่อมลูกหมากโตหรือปัญหาอื่นๆ ของต่อมลูกหมากก็ได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายและรีบปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจโรคได้อย่างถูกต้อง ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยมะเร็งตอมลูกหมาก หรือการตรวจหาความเสี่ยงมะเร็งตอมลูกหมากมีหลายวิธี เช่น การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งในต่อมลูกหมาก (Prostate specific Antigen: PSA) การตรวจทางทวารหนัก
โดยแพทย์จะใช้นิ้วสอดไปในทวารหนักเพื่อตรวจคลำดูว่าพื้นผิวรูปร่างและขนาดของต่อมลูกหมากมีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ ผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก้อนมะเร็งอาจมีขนาดเล็กและยังไม่ลุกลามแพร่กระจ่ายไปสู่อวัยวะอื่น ทำให้การวินิจฉัยและรักษาทำได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีมีโอกาสหายขาดจากโรคสูงขึ้น
tags : กรมการแพทย์