แผลร้อนใน

แผลร้อนใน กับ 15 วิธีแก้แผลร้อนในให้หายเร็วๆ

แผล “ร้อนใน” ที่ทำให้แสบทุกครั้งที่รับประทานอาหาร หรือแม้กระทั่งอยู่เฉยๆ ก็รู้สึกทรมาน เป็นแผลที่หลายคนน่าจะเคยเป็นกันมาบ้าง และรับรู้ถึงความทรมายของเจ้าแผลในปากนี้ได้เป็นอย่างดี บางคนเป็นบ่อย บางคนก็ไม่ค่อยเป็น สาเหตุของแผล”ร้อนใน”คืออะไร แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะหายเร็วๆ มาดูวิธีกัน

สาเหตุของแผลร้อนใน

แผล”ร้อนใน” (Aphthous Ulcers) หรือแผลในปาก (Mouth Ulcers) เป็นอาการที่เยื่อบุอ่อนภายในช่องปากอักเสบ บางครั้งอาจเป็นแผลอักเสบที่ค่อนข้างลึก บริเวณที่เกิดแผลสามารถพบเห็นได้ทั่วช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นกระพุ้งแก้ม เพดานปาก เหงือก ลิ้น ฯลฯ มีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น

  • ภูมิต้านทานโรคในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงที่มีประจำเดือนที่ฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง
  • เครียดสะสม
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไปพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • มีแผลกดทับ หรือเสียดสีจากฟันปลอมที่หลวมเกินไป หรือเหล็กดัดฟันไม่พอดีกับฟัน
แผลร้อนใน

วิธีแก้แผล"ร้อนใน"ให้หายเร็วๆ

1.วิธีแก้ร้อนในวิธีแรกคือ บ้วนปากด้วยน้ำเกลือทุก 2 ชั่วโมง หรือหลังอาหารทุกมื้อ

2.หลีกเลี่ยงน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้แผล”ร้อนใน”ระคายเคือง และแห้งตึงจนเกินไป

3.เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่มวันละ 2 ครั้ง หรือหลังรับประทานอาหาร

4.หากมีแผล”ร้อนใน”ที่ค่อนข้างใหญ่ และลึก จนมีอาการเจ็บปวดมาก สามารถใช้ผ้าสะอาดพันปลายนิ้ว เช็ดทำความสะอาดฟัน เหงือก และซอกฟันแทนการใช้แปรงสีฟันชั่วคราวได้

5.เลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุ

6.เลือกรับประทานอาหารที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย

7.หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารรสจัด (เปรี้ยวจัด เค็มจัด เผ็ดจัด)

8.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีอุณหภูมิเย็นจัด และร้อนจัด

9.งดอาหาร และสิ่งที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในช่องปาก เช่น เหล้า บุหรี่ หมากพลู เป็นต้น

10.ดื่มน้ำผลไม้ไม่แยกกาก เพื่อป้องกันอาการท้องผูก ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงที่รับประทานอาหารได้ไม่หลากหลาย หรือรับประทานผักผลไม้ได้ไม่มาก จากอาการเจ็บแผล”ร้อนใน”

11.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อคืน

12.ออกกำลังกายเป็นประจำ วันละ 30 นาที-1 ชั่วโมง สัปดาห์ละอย่างน้อย 3-4 ครั้ง

13.ดื่มน้ำให้เพียงพอ เช็กได้จากสีปัสสาวะ ดื่มน้ำจนกว่าปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองอ่อน

14.พยายามลดความเครียด ด้วยการหากิจกรรมที่ชอบทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องที่เครียด

15.หากแผล”ร้อนใน”ค่อนข้างใหญ่ และไม่ดีขึ้นหลังจากทำทุกวิธีแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณายาทาแผลให้หายไวยิ่งขึ้น

**เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการรักษาแผลร้อนใน หรือแผลในปาก

ยังไม่มีรายงานการแพทย์ใดๆ ยืนยันได้ว่า การรับประทานยาขม จะช่วยรักษาแผล”ร้อนใน”ได้ และเมื่อมีแผล”ร้อนใน” หรือแผลที่อักเสบบริเวณริมฝีปาก ไม่ควรใช้เยนเชี่ยน ไวโอเล็ตทา (Gentian Violet หรือยาม่วง) เพราะจะทำให้ริมฝีปากแตกแห้งมากขึ้น และแผลยิ่งแตกมากขึ้นไปด้วย

tags : อ.พญ. ดนิตา กานต์นฤนิมิต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย,โรงพยาบาลสุขุมวิท,Honest Docs

Facebook

Similar Posts