เตรียมตัว 9 พฤศจิกายนนี้ NASA ทดสอบเกราะกันความร้อนใหม่
9 พฤศจิกายน 2022 นี้ นาซา (NASA) จะส่งเกราะกันความร้อน (LOFTID หรือ Low-Earth Orbit Flight Test of an Inflatable Decelerator) ขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวดยูแอลเอ แอตลาส (ULA Atlas rocket) จากฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์ก พร้อมกับดาวเทียมสภาพอากาศขั้วโลก (Polar Weather Satellite) ขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) โดยหลังจากดาวเทียมแยกตัวออกจากจรวดแล้ว เกราะกันความร้อนจะดีดตัวออกจากจรวดในวงโคจรต่ำของโลกก่อนจะกลับเข้ามาใหม่ ซึ่งมันจะมีความเร็วเกือบ 18,000 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 8 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่าความเร็วปกติ 3 เท่า
สำหรับเกราะกันความร้อนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 20 ฟุต หรือประมาณ 6 เมตร นับเป็นเกราะกันความร้อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยได้รับการทดสอบ
โดยชั้นนอกสุดของเกราะกันความร้อนทำจากเซรามิกทอและซิลิกอนคาร์ไบด์ ซึ่งทำเป็นเส้นใยขนาดเล็กที่สามารถมัดและปั่นเป็นเส้นด้ายได้ และใช้ช่างทออุตสาหกรรมประเภทเดียวกันกับที่ทำยีนส์ ในขณะที่ชั้น 2 และ 3 ทำจากฉนวน 2 ชนิด เพื่อปกป้องชั้นที่ 4 โดยทั้งหมดเรียงซ้อนกันในลักษณะวงแหวนเข้าหาจุดศูนย์กลาง ซึ่งสร้างขึ้นจากพอลิเมอร์ทอที่แข็งแรงกว่าเหล็กกล้าถึง 10 เท่า
NASA
สำหรับเหตุผลที่นาซาใช้เวลาในการพัฒนาเกราะกันความร้อนกว่าเกือบทศวรรษ ก็เพื่อสร้างเกราะกันความร้อนที่สามารถกันความร้อนให้กับยานอวกาศได้ เนื่องจากเมื่อยานอวกาศเดินทางกลับสู่พื้นโลก มันจะต้องเผชิญกับการเสียดสีของชั้นบรรยากาศโลกจนมีอุณหภูมิสูงมากถึง 3,000 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 1,600 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าจุดหลอมเหลวของเหล็ก (ประมาณ 1,500 องศาเซลเซียส)
โครงการนำโดยศูนย์วิจัยแลงลีย์ (Langley Research Center) ของนาซาในเมืองแฮมป์ตัน รัฐเวอร์จิเนีย ร่วมกับยูแอลเอ (ULA หรือ United Launch Alliance), ศูนย์วิจัยเอมส์ (Ames Research Center) ของนาซาในซิลิกอน วัลเลย์ (Silicon Valley), ศูนย์การบินอวกาศมาร์แชล (Marshall Space Flight Center) ในฮันต์สวิลล์ รัฐแอละแบมา และศูนย์วิจัยการบินอาร์มสตรอง (Armstrong Flight Research Center) ในเอ็ดเวิร์ดส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย
tags : www.nasa.gov