“น้องไฟฉายรุ่น ” นวัตกรรมโคม UV-C ฆ่าเชื้อ COVID-19 และเชื้อโรคอื่นๆ ได้ 99.99% ภายใน 3 นาที

Robocovid UV-C หรือ “น้องไฟฉาย”

นวัตกรรมโคม UV-C ฆ่าเชื้อ COVID-19 และเชื้อโรคอื่นๆ ได้ 99.99% ภายใน 3 นาที

คณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ Smile Robotics และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พัฒนานวัตกรรมโคม UV-C “น้องไฟฉาย” รุ่นที่ 3 ฆ่าเชื้อโรคและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกได้พัฒนาหุ่นยนต์มาแล้ว 2 รุ่น จนล่าสุด เผยโฉม “น้องไฟฉายรุ่น 3” การันตีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโรคได้เร็วและเข้มข้นกว่าเดิม ฆ่าและทำลายเชื้อไวรัส COVID-19 และเชื้อโรคอื่นๆ ได้ 99.99% ภายใน 3 นาที พร้อมสร้างความมั่นใจให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้า

เพราะบุคลากรทางการแพทย์ เป็นกลุ่มคนด่านหน้าที่มีความเสี่ยงสูง ต้องคลุกคลีกับผู้ติดเชื้อทุกวันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเชื้อโควิด-19 สามารถล่องลอยอยู่ในอากาศได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ ได้นานหลายชั่วโมง

ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก คณะนวัตกรรมได้พัฒนาหุ่นยนต์มาแล้ว 2 รุ่น และล่าสุด คือ  รุ่น 3 ที่มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโรคได้เร็วและเข้มข้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ใช้ฆ่าเชื้อช่วงที่ไม่มีคนอยู่ปฏิบัติการณ์ในห้อง เป็นการฆ่าเชื้อเบื้องต้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ก่อนที่โรงพยาบาลจะทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออีกครั้งด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ

ดร.เจนยุกต์ โล่วัชรินทร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่าในทางวิศวกรรม รังสี UV-C อยู่ในช่วงความยาวคลื่น 200 – 280 นาโนเมตร หรือเรียกว่าเป็นช่วง germicidal range ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมากในการฆ่าเชื้อ ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา

“ความเข้มข้นของรังสี UV-C ที่ตกกระทบบนพื้นผิวมีความสำคัญกับการฆ่าเชื้อโรค เปรียบได้กับความเข้มข้นของสารเคมี ที่ใช้ฆ่าทำความสะอาดเชื้อโรค ถ้ารังสีเข้มข้นมากก็ใช้เวลาน้อย ถ้าเข้มข้นน้อยก็ต้องใช้เวลามากขึ้น”

ความเข้มข้นของแสง มีหน่วยวัดเป็นจูล/ตารางเซนติเมตร ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ปริมาณความเข้มข้นของแสง UV-C ที่ประมาณ 1.2 จูล/ตารางเซนติเมตร หรือ 1,200 มิลลิจูล/ตารางเซนติเมตร เป็นอย่างน้อยสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาทีต่อ 1 จุด ตรงนี้จึงเป็นที่มาของจำนวนหลอด UV-C ที่คำนวณเพื่อติดตั้งบนตัวหุ่นยนต์ รวมถึงองศาในการติดตั้งหลอดว่า ต้องเอียงกี่องศาเพื่อให้มีความเข้มข้นเพียงพอที่จะฆ่าเชื้อได้

ดร.เจนยุกต์ กล่าวทิ้งท้ายถึงอนาคตของ “น้องไฟฉาย” รุ่นต่อไปว่า “ชนิดหลอด UV-C ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันอาจมีการปล่อยก๊าซโอโซนออกมา ซึ่งถึงแม้โอโซนจะสามารถช่วยฆ่าเชื้อและสลายไปได้เอง แต่ก็ข้อกังวลเรื่องการตกค้างของโอโซนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นผิวอุปกรณ์ได้ ดังนั้น เราจึงกำลังศึกษามองหาหลอดประเภทอื่นที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่ดีที่สุด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้ว่าตัวที่เราใช้อยู่ก็มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากในระดับหนึ่งอยู่แล้วก็ตาม”

tags :  news.thaipbs

Facebook

Similar Posts